คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข หนึ่งในแกนนำการประท้วงที่ถูกจับกุมด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112) แม้ว่าขณะนี้ ศาลยุติธรรมยังไม่ได้ตัดสินคดีของคุณสมยศ​ (และแกนนำคนอื่นๆ)​ แตาการจองจำคุณสมยศและการไม่อนุญาตให้มีการประกันตัวนั้น ชี้ว่า ระบบยุติธรรมของไทยกำลังมีปัญหา และคุณสมยศเองได้ออกมาบอกว่า ขอให้ศาลยุติธรรมพิพากษาโทษประหารชีวิตเสียดีกว่า เพราะคิดว่าตนเองคงไม่ได้รับความยุติธรรมภายใต้ระบอบที่เป็นอยู่

ผมไม่ต้องการเขียนรายละเอียดส่วนตัวมากนักเกี่ยวกับประวัติคุณสมยศ แต่อยากนำเอาบทความเก่าที่ผมเคยเขียนเกี่ยวกับคุณสมยศมาตีพิมพ์อีกครั้ง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คุณสมยศต้องถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปก็คือ ความไร้ซึ่งความยุติธรรมต่อการพิจารณาคดีที่มาจากการละเมิดมาตรา 112 บทความที่เอามาตีพิมพ์ใหม่มีข้อความดังนี้

***

เป็นเวลา 3 ปีแล้วที่คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ต้องถูกจองจำภายใต้กฏหมายป่าเถื่อนในนามของความรักสถาบันกษัตริย์ สะท้อนให้เห็นถึงสภาพการณ์ทางด้านสิทธิมนุษยชนของไทยที่ยังไม่ได้รับการปรับปรุงและแก้ไขให้ดีขึ้น แม้ว่าจะมีกระแสต่อต้านจากภาคประชาชนเกี่ยวกับการใช้กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในการเป็นเครื่องมือทางด้านการเมืองเพื่อที่จะปิดกั้นความคิด และกระแสต่อต้านจากสังคมและชุมชนระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น แต่ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับพลังประชาธิปไตยที่ฝังตัวอยู่ในกลุ่มรอยัลลิสต์ยังคงไม่ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการใช้กฏหมายป่าเถื่อนนี้ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดทางการเมือง รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์เอง ที่นับวันความศักดิ์สิทธิ์และศรัทธานิยมจะยิ่งลดน้อยจางหายไป

ประเด็นเรื่องของกักขังเสรีภาพของคุณสมยศนั้น นอกจากจะสะท้อนถึง “อาการป่วย” อย่างสาหัสของสังคมไทยแล้ว ยังเป็นดัชนีชี้วัดถึงปัญหาที่ทางการเมืองในกรอบที่กว้างกว่ามาก

ประการแรกชี้ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยยังขาด “ความกล้าหาญทางจริยธรรม” ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากกฏหมายหมิ่นฯ ทั้งๆ ที่รู้และเข้าใจว่า กฏหมายหมิ่นฯ นี้ สร้างผลกระทบในทางลบอย่างมากต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของประชาคมระหว่างประเทศ รัฐบาลเพื่อไทยยังคงวุ่นวายอยู่กับการต้องรักษาตัวให้รอดจากเกมการเมืองที่เข้มข้นมากขึ้นทุกวัน ยังต้องกังวลใจถึงความจำเป็นที่ต้องรักษาสัมพันธภาพกับสถาบันกษัตริย์และสถาบันทหารไว้ในระดับหนึ่ง จึงไม่มีความปรารถนาที่แม้แต่จะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการผลักดันให้มีการแก้ไขกฏหมายหมิ่นฯ แม้ว่าจะมีโอกาสในฐานะที่พรรคเพื่อไทยมีเสียงข้างมากในรัฐสภา หรือแม้แต่เพิกเฉยต่อแรงกดดันที่มาจากสังคมและการเรียกร้องของภาคประชาชนให้มีการแก้ไขกฏหมายนี้อย่างเร่งด่วน แม้ว่าความจริงนั้น นักโทษการเมืองที่ต้องโทษด้วยมาตรา 112 จำนวนหนึ่งนั้นเป็น “คนเสื้อแดง” ที่เป็นฐานเสียงสนับสนุนพรรคเพื่อไทย (ในส่วนนี้นั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า รัฐบาลเพื่อไทยจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือกับทุกบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากกฏหมายหมิ่นฯ แม้ว่าบุคคลนั้นๆ จะมีความเห็นทางการเมืองต่างไปจากรัฐบาลก็ตาม)

ความพยายามปรองดองของรัฐบาลต่อกลุ่มเครือข่ายพระมหากษัตริย์ ได้กลายมาเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแสดงถึงความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากมาตรา 112 ดังที่เห็นได้จากการผลักดัน พรบ นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งของพรรคเพื่อไทยที่เสนอบนกองศพของคนเสื้อแดง และในที่สุด การที่ พรบ นิรโทษกรรมถูกปฏิเสธจากสังคมได้ทำให้โอกาสที่นักโทษการเมืองจะได้รับอิสรภาพต้องสูญสลายไป

ประการที่สอง ความไม่ผ่อนปรนของฝ่ายรอยัลลิสต์และผู้มีอำนาจในเครือข่ายพระมหากษัตริย์ที่มีอิทธิพลเหนือระบบตุลาการของไทย ได้ทำให้ปัญหาที่เกิดจากกฏหมายหมิ่นฯ มีความเลวร้ายมากยิ่งขึ้น เป็นที่รู้กันแล้วว่า กฏหมายหมิ่นฯ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองควบคู่ไปกับเครื่องมืออื่นๆ ในการกำจัดศัตรูทางการเมือง อาทิ รัฐประหาร ตุลาการภิวัฒน์ และอุดมการณ์ราชานิยมสุดโต่ง แม้ว่านักวิชาการฟากประชาธิปไตยจะออกมาท้วงติงเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้กฏหมายฯ หมิ่นต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์เอง แต่กลับถูกเพิกเฉย มองข้าม หรือแม้แต่ถูกคุกคามด้วยซ้ำ ข้อเสนอที่จะให้มีการปฏิรูปกฏหมายหมิ่นฯ นั้น (ในความเป็นจริง ยังมีข้อเสนอให้มีการยกเลิกกฏหมายฉบับนี้ด้วยซ้ำ) เช่น ในเรื่องของการกำหนดให้มีหน่วยงานเฉพาะที่มีหน้าที่กำกับดูแลการฟ้องร้องในกรณีกฏหมายหมิ่นฯ และการลดโทษกฏหมายหมิ่นฯ​ (ที่ขณะนี้ มีความป่าเถื่อนมากที่สุดในโลก) กลับถูกมองว่าเป็นความพยายามของนักวิชาการฟากประชาธิปไตยในการ​ “ล้มเจ้า” แต่หากกลุ่มรอยัลลิสต์จะเปิดใจกว้าง ก็น่าจะเข้าใจว่า การปฏิรูปแก้ไขกฏหมายหมิ่นฯ เท่านั้น จะเป็นปราการด่านเดียวที่จะช่วยพยุงสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ควบคู่กับกับสถาบันประชาธิปไตยได้ในช่วยที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเข้มข้นมากขึ้น ในความเห็นของผู้เขียน การที่ฝ่ายรอยัลลิสต์ยังใช้กฏหมายฉบับนี้ในทางที่มิชอบ กลับยิ่งเป็นตัวเร่งกระบวนการลดความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ สร้างความเกลียดชังที่คนจำนวนหนึ่งมีต่อสถาบันกษัตริย์มากขึ้น ในมุมมองนี้ ฝ่ายรอยัลลิสต์ต่างหากที่น่าจะถูกตีตราว่าเป็นพวก “ล้มเจ้า”

ประการที่สาม ยังเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่รู้ว่า สถาบันตุลาการยังไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น และกระแสต่อต้านจากสังคมที่มีมากขึ้นต่อการคงอยู่ของกฏหมายหมิ่น การผู้ที่รักประชาธิปไตยจะออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้นเพื่อให้มีการแก้ไข/ยกเลิกกฏหมายฉบับนี้ กลับยิ่งทำให้มีการใช้กฏหมายนี้มากขึ้น และหากคดีใดที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นพิเศษ มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ก็จะกลายมาเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการต่อสู้คดี เพราะเท่ากับเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับฝ่ายตุลาการรอยัลลิสต์ที่ไม่ต้องการถูกมองว่า ต้องพิจารณาคดีภายใต้แรงกดดันดังกล่าว หรือกล่าวให้กระชับกว่านี้ คดีใดที่สังคมผลักดันมาก ศาลกลับยิ่งปฏิเสธคดีนั้นๆ และการให้อิสรภาพยิ่งทำได้ยากมากขึ้น ในจุดนี้ อาจกล่าวได้ว่า สถาบันตุลาการต้องการแสดง “อำนาจ” ควบคู่ไปกับ “ความจงรักภักดี” ต่อสถาบันกษัตริย์ ที่จะไม่ยอมอ่อนข้อต่อแรงกดดัน และยิ่งในกรณีของคุณสมยศฯ ที่ยังคงปฏิเสธที่จะขอพระราชทานอภัยโทษเพราะยังเชื่อในความบริสุทธิ์ของตัวเองนั้น ยิ่งทำให้โอกาสการต่อสู้เพื่อที่จะได้รับอิสรภาพยากขึ้น

ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนเห็นว่า หากรัฐบาลเพื่อไทยมีความจริงจังและจริงใจในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนอันเกิดมาจากกฏหมายหมิ่นฯ รัฐบาลต้องกันกลับมาให้ความสนใจต่อการปฏิรูปกฏหมายฯ ฉบับนี้ สถานการณ์ทางการเมืองไทยมีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและมีความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านรัชสมัยที่กำลังจะเกิดขึ้น ที่จะส่งผลต่อสถาบันกษัตริย์โดยตรง ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ กฏหมายหมิ่นฯ น่าจะยังถูกใช้เป็นเครื่องมืออีกต่อไปและมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากไทยต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นสังคมที่ “ปกติ” ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะหากกฏหมายหมิ่นฯ ยังอยู่ในรูปแบบเดิม แต่ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ต่างไป โดยเฉพาะในรัชสมัยใหม่ที่มีกษัตริย์จะมีความพร่องในเรื่อง​ “บารมีและอำนาจ” ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์มีความอึมครึมและความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้นไปอีก

***

จุดมุ่งหมายของบทความนี้ก็เพื่อต้องการให้สังคมไทยลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมให้คุณสมยศ และผู้ต้องหามาตรา 112 คนอื่นๆ คุณสมยศเป็นมิตรกับ FORSEA และได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมที่เมืองบันดุง ในเดือนพฤศจิกายน 2018 และการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ FORSEA ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 องค์กร FORSEA สนับสนุนอิสรภาพของคุณสมยศ และผู้นำการประท้วงคนอื่น และขอประนามการกระทำของรัฐไทยในกรณีคุณสมยศ และเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเร็ว

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร FORSEA

Posted by Pavin Chachavalpongpun

Pavin Chachavalpongpun is associate professor at the Center for Southeast Asian Studies, Kyoto University. Since the coup of 2014 in Thailand, Pavin was summoned twice for his criticial views of the monarchy and the military. He rejected the summons. As a result, the Thai junta issued a warrant for his arrest and revoked his passport, forcing him to apply for a refugee with Japan.