หลังจากที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ได้เข้าร่วมการประชุม Economist Forum ที่ฮ่องกงโดยร่วมเวทีเดียวกับโจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวจากฮ่องกง ซึ่งหลังจากนั้นโจชัวได้โพสต์ภาพเขาคู่กับธนาธรลงไปในเฟซบุ๊ก เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น สถานทูตจีนออกมาตอบโต้ผ่านเฟซบุ๊ก ประท้วงไทยว่ามีนักการเมืองไทยบางคนกำลังสมคบคิดกับคนแบ่งแยกดินแดน ในวันรุ่งขึ้น พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ สมาชิกวุฒิสภาและผู้บัญชาการทหารบกได้พูดเดี่ยวไมโครโฟน เชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงเข้าฟัง ฉายภาพโจชัว หว่อง คู่กับเงาของนักการเมืองไทยคนหนึ่ง (ซึ่งคือ นายธนาธร !) เตือนสติคนรุ่นใหม่อย่าได้เอาตัวอย่างเยาวชนฮ่องกง

หากเราดูในระดับผิวเผินก็อาจจะกล่าวว่า อภิรัชต์เป็นคนโง่ ตื่นตระหนกเกินเหตุ เพราะบริบทขบวนการเคลื่อนไหวของไทยและฮ่องกงต่างกันอย่างชัดเจน  อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้น ผม เนติวิทย์ซึ่งอยู่ที่ไต้หวัน ขณะที่ได้เห็นข่าวนี้เพราะ ได้รับเชิญไปพูดในเวที Oslo Freedom Forum 2019 ที่ไต้หวันจึงศึกษาเรียนรู้ภาษาจีนพื้นฐานอยู่ที่นั่น ได้สนทนากับ สุกฤษฎ์ เพื่อนนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวไทย พวกเราตั้งคำถามว่า การที่อภิรัชต์ออกมาพูดนั้น เขาจะไม่ทราบเลยหรือว่า สรรพกำลังของขบวนการเคลื่อนไหวของไทยนั้นยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งคำตอบของพวกเราไม่ว่ามองในมุมไหนก็คือ เขารู้ ถ้าเขารู้ เขากำลังพูดกับคนไทยอยู่หรือ เขาพูดแบบนี้เขาได้อะไร เขาไม่ได้อะไรเลย ถ้าอย่างนั้น เขากำลังพูดในเชิงเลศนัยกับจีนและสหรัฐอเมริกาใช่หรือไม่ พวกเราคิดว่า อภิรัชต์ออกมาพูดเป็นการส่งสัญญาณกับต่างประเทศมากกว่า อาจจะเป็นเพราะต้องการให้สหรัฐอเมริกาซึ่งความสัมพันธ์กับไทยกำลังดีขึ้นหลังจากที่ไทยซื้ออาวุธจำนวนมาก และให้รู้ว่าถ้าอยากไม่ให้ไทยเบนความสัมพันธ์ไปหาจีน ก็อย่าได้เผยแพร่สนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตยไทย (เรื่องนี้เห็นก่อนหน้าแล้ว เช่น สมบัติ บุญงามอนงค์ นักเคลื่อนไหวไทยไม่ได้รับวีซ่าไปเยี่ยมลูกที่อเมริกา และตัวเนติวิทย์เอง ได้วีซ่าเพียงสองสัปดาห์ แทนที่จะเป็นสิบปี และถูกตรวจสอบอย่างละเอียดจนทำให้เดินทางเข้าร่วมการประชุมไม่ทัน) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชัดเจนและแน่นอนจากการเดี่ยวไมโครโฟนนี้ คือจีน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการเมืองไทย ความไม่ไว้วางใจพรรคอนาคตใหม่ ทำให้การสนับสนุนรัฐบาลประยุทธ์จะเข้มข้นขึ้น แม้ว่านายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ได้ออกมาตอบโต้พลเอกอภิรัชต์ในวันต่อมาอย่างชาญฉลาด แต่หลังจากนั้นท่าทีของพรรคอนาคตใหม่ต่อกลุ่มการเมืองที่คาดหมายได้ว่าเป็นปฏิปักษ์กับจีนก็เปลี่ยนไป นักศึกษาไต้หวันกลุ่มหนึ่งที่รัฐบาลไต้หวันสนับสนุนมีหมายกำหนดการไปเยือนพรรคอนาคตโดยจะเป็นการพูดคุยในระดับทางการกับพรรค ได้บอกเนติวิทย์ว่า ทางพรรคกังวลเรื่องปัญหาจีน และขอเปลี่ยนเป็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการแทน 

ฉะนั้นแล้ว จึงขอเริ่มต้นสถานการณ์ของไต้หวันในปัจจุบัน ไต้หวันเป็นดินแดนที่อยู่ในสมรภูมิต่อสู้กับจีนอย่างเข้มข้นและเด่นชัดที่สุด สิ่งที่ไต้หวันแตกต่างกับจีน (และเป็นหนึ่งในนโยบายให้โลกเสรีสนับสนุน) คือ มีการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย มีเสรีภาพในการแสดงออก และล่าสุดยังเป็นดินแดนแรกในเอเชียที่ให้สิทธิในการแต่งงานเพศเดียวกัน ตรงข้ามกับจีนที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ ปราศจากเสรีภาพในการแสดงออก อย่างไรก็ตามด้วยกระแสการรุกคืบของจีนซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจที่เข้มแข็งในรอบหลายปี ทำให้อิทธิพลและอำนาจของจีน โดยเฉพาะในยุคสี จิ้นผิง แผ่ขยายไปทั่วทั้งโลก ไต้หวันเผชิญกับปัญหาโดยตรง ภายหลังการขึ้นมาของรัฐบาลพรรค DPP ไต้หวันถูกตัดความสัมพันธ์ทางการกับหลายประเทศไปถึง 5 ประเทศในรอบห้าปี ทำให้เหลือพันธมิตรเพียง 14 ประเทศ ไทยเองแม้ไม่ได้เป็นประเทศที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน แต่ก็เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญหนึ่งของไต้หวันมาตลอด รัฐบาลไต้หวันปัจจุบัน ต้องการตีตัวออกห่างกับจีน และมุ่งที่จะทำการค้าแลกเปลี่ยนต่างๆกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น จึงได้ดำเนิน “นโยบายมุ่งใต้” ซึ่งเราเองก็เห็นความคึกคักของการพยายามของไต้หวันในกำลังดำเนินนโยบายมุ่งใต้ในประเทศไทยอยู่ ผ่านงานวัฒนธรรม ทางการศึกษา และการค้า นอกเหนือจากนี้ยังมีการส่งคณะนักศึกษามาเยือนไทยอยู่เป็นเนืองๆ อย่างไรก็ตาม ภายใต้สมรภูมิสงครามที่ดุเดือดของสหรัฐอเมริกาและจีน ขณะที่อุดมการณ์เผด็จการของจีนเองก็มีพันธมิตรที่เข้มแข็งอย่างรัสเซีย ตุรกี และประเทศอื่นๆที่หันขวาจำนวนมากในยุโรปและในส่วนอื่นๆทั่วโลก สนามอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการนิยมกำลังเป็นสนามที่เด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเทศไทยที่จีนคงไม่ปล่อยปะละเลยให้นักการเมืองไทยคนไหนไปถ่ายรูปกับโจชัว หว่องอีกแล้ว ทั้งล่าสุดสหรัฐอเมริกา ตอบโต้ทางการค้ากับไทยโดยตัดจีเอสพีบางส่วน ทำให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าไทยหายไป อันจะทำให้กระแสชาตินิยมในหมู่คนไทยที่ไม่พอใจอเมริกาจะทำให้ไทยกับจีนเหนียวแน่นยิ่งขึ้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่ได้ผลกระทบหนักนัก แต่คนที่จะเสียที่สุดก็คือ รัฐบาลไต้หวัน เนื่องจากผลที่รัฐบาลเผด็จการไทยมีทีท่าที่โอนอ่อนกับจีนอย่างมาก ซึ่งสำหรับเนติวิทย์และสุกฤษฎ์พวกเราเห็นว่าการดำเนินการมุ่งใต้ของไต้หวันในไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนกว่านี้ เพื่อความอยู่รอดอย่างเข้มแข็งของไต้หวันในสมรภูมิระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันการต่อสู้ของไต้หวันก็หมายถึงเสรีประชาธิปไตยในไทยด้วย ดังนั้นพวกเราสองคนเห็นว่าสำคัญที่ต้องเขียนบทความร่วมกันเพื่อถ่ายทอดประเด็นนี้     

นโยบายมุ่งใต้และจุดอ่อน

นโยบายมุ่งลงใต้ของไต้หวันนี้ไม่ใช่พยายามครั้งแรกรัฐบาลไต้หวันในการลดการพึ่งพาและคานอำนาจกับจีน ภายใต้รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang) โดยการนำของ Lee Teng-Hui โดยประธานาธิบดีของไต้หวันใช้ความสัมพันธ์ทางการทูตแบบพักร้อน (vacation diplomacy)ในการเยือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไม่เป็นทางการ 1 และเป็นครั้งแรกที่ไต้หวันมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในชื่อ “Go South” Policy  ซึ่งทำให้นักลงทุนไต้หวันมีการลงทุนในภูมิภาคนี้มากขึ้น และสำหรับประเทศไทย รัฐบาลไต้หวันให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่โครงการหลวง (The Royal Project) อย่างไรก็ตาม ความไม่ต่อเนื่องทางนโยบายที่รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang) ภายใต้การนำของMa Ying-Jeou ที่มุ่งสานสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น ประจวบกับจีนเริ่มมีบทบาทในภูมิภาคนี้มากขึ้นทำให้ไต้หวันมีบทบาทในภูมิภาคนี้น้อยลงอย่างหลีกเลี่ยงนี้ไม่ได้

รัฐบาลของนางไซ่อิงเหวินจึงรื้อฟื้นนโยบายนี้อีกครั้งภายใต้ New Southbound Policy (NSP) ที่จะสนับสนุนให้ไต้หวันมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยมีหลักการสำคัญคือ 1) ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Promote economic collaboration) 2) แลกเปลี่ยนความสามารถ (Conduct talent exchange) 3) แชร์ทรัพยากรร่วมกัน (Share resources) 4) เชื่อมโยงภูมิภาค (Forge regional links) อย่างไรก็ตาม ผลของนโยบายนี้ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์สำหรับประชาชนในไต้หวันและชาติในภูมิภาคนี้อย่างชัดเจน ปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือไต้หวันไม่มีการกำหนดกรอบประเทศในภูมิภาคนี้อย่างชัดเจน ตอนแรกประเทศเป้าหมายคือประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และภายหลังเพิ่มประเทศในเอเชียใต้ ประกอบด้วย อินเดีย เนปาล ปากีสถาน ภูฐาน บังกลาเทศ ศรีลังกา และปากีสถาน นอกจากนี้ยังมีออสเตรเลีย กับนิวซีแลนด์ด้วย 2 จึงเป็นข้อกังขาว่า นโยบายแบบนี้เป็นการลูบหน้าปะจมูกหรือไม่ เพราะเฉพาะASEANเองนั้น แต่ละประเทศมีความหลากหลายทางระบอบการเมือง สังคม ศาสนา และวัฒนธรรม การเพิ่มประเทศในการกำหนดนโยบาย หากไร้การเตรียมการที่ดีจะมีโอกาส ย่อมจะเป็นปัญหาในการกำหนดนโยบายที่ดี และถูกต้อง

การกำหนดนโยบายที่ดีต้องมาพร้อมกับการมีองค์ความรู้ที่ดี และการประกาศนโยบายนี้ภายใต้การนำของรัฐบาลTsai Ing-Wen เป็นเรื่องที่หลายประเทศในภูมิภาคให้ความสนใจ อย่างไรก็ตาม เมื่อมาดูสถาบันการศึกษา และสถาบันคลังความคิดในไต้หวัน พบว่ายังมีน้อยที่ให้ความสนใจในภูมิภาคนี้ National Chi Nan University เป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่ให้ความสนใจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจัง โดยมี Department of Southeast Asian Studies และ Center for Southeast Asian Studies เป็นแห่งแรกของไต้หวัน ซึ่งในมหาวิทยาลัยนี้มีการสอนเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ตั้งแต่ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ถึงแม้ว่า National Chi Nan University จะมีคณะและศูนย์เหล่านี้ถึงแม้ว่าจะตั้งเป็นที่แรก และมีผลงานอย่างต่อเนื่องในไต้หวัน แต่ก็ยังได้งบและการสนับสนุนน้อยกว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง National Taiwan University และ National Chengchi University ที่จะศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แย่ไปกว่านั้นคือ National Chengchi University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านสังคมศาสตร์ในไต้หวันมีการตั้ง Center for Southeast Asian Studies แต่ก็ไม่ได้มีผลงานอย่างจริงจังในการส่งเสริม New Southbound Policy อย่างจริงจัง ส่วนสถาบันวิจัยแห่งชาติ (Academia Sinica) ก็มีการตั้ง Center for Southeast Asian Studies แต่การศึกษาด้านภูมิภาคนี้อยู่ภายใต้ Center for Asia-Pacific Area Studies ข้อจำกัดในการวิจัยนอกไต้หวันนั้น คือ ความยากลำบากในการจ้างผู้ช่วยวิจัยและนักวิจัยท้องถิ่น เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากสํานักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปหรือหน่วยงานของรัฐบาลไต้หวันในต่างประเทศที่จะช่วยเซ็นสัญญากับผู้ช่วยวิจัยและนักวิจัยท้องถิ่นในประเทศเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไขโดยเร็ว

นอกจากนี้ไต้หวันเองยังมีปัญหาด้านทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้เกี่ยวกับประเทศต่างๆใน New Southbound Policy ด้วยค่านิยมต้องการสำเร็จในระกับอุดมศึกษาโดยเฉพาะปริญญาโทและเอกในประเทศตะวันตก อย่างสหรัฐอเมริกา และในยุโรป และประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ผนวกกับรัฐบาลไม่มีแผนที่จะส่งคนไปศึกษาประเทศเหล่านั้นอย่างจริงจัง และไม่มีการการันตีความมั่นคงของผู้สำเร็จการศึกษาในประเทศเป้าหมาย ทั้งที่ประเทศต่างๆใน New Southbound Policy เป็นตลาดและฐานการผลิตที่สำคัญของไต้หวัน โดยทิศทางนั้นต่างจากจีนอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจะกล่าวต่อไปในส่วนที่สอง การรุกคืบของจีน

เป็นที่รู้กันดีว่า องค์กรที่กำหนดและสนองนโยบายนี้ไม่ได้มีเพียงกระทรวงการต่างประเทศ อย่างเดียว แต่มีองค์กรชื่อ Taiwan-Asia Exchange Foundation (TAEF) ซึ่งทำหน้าที่เป็นสถาบันคลังสมอง และเชื่อมต่อกับสถาบันต่างๆในประเทศต่างๆภายใต้ New Southbound Policy แต่ก็มีข้อกังขาว่าองค์กรนี้มีความชอบธรรมหรือไม่ เพราะองค์กรนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และเป็นกลไกหนึ่งของนโยบายการต่างประเทศของไต้หวัน แต่อยู่พ้นการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎร (Legislative Yuan) ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความโปร่งใส และการคืบหน้าของนโยบายได้ ต่างกับ Taiwan Foundation for Democracy และ Mainland Affairs Council ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ และสภาผู้แทนราษฎร (Legislative Yuan) อีกทั้งกลไกขององค์กรนี้ถูกควบคุมโดยคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party: DPP) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเป็น เพราะองค์กรนี้ควรจะสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านและภาคประชาชน ไม่ใช่เป็นองค์กรที่มีเจ้าของเป็นของพรรคใดพรรคนึง ควรที่จะเป็นองค์กรที่ประชาชนไต้หวันทุกคนเป็นเจ้าของ เพื่อประสิทธิภาพและความต่อเนื่องของนโยบาย อีกทั้งจะได้ไม่เป็นที่ครหาในหมู่คนไต้หวันว่าเป็น องค์กรสีดำ (Black organization) 

การรุกคืบของจีนในไทย

ประเทศไทยมีความสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เพราะอยู่กึ่งกลางของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผ่านมาไทยพยายามดำรงความสมดุลระหว่างชาติมหาอำนาจทั้งสองทั้งสหรัฐอเมริกา และจีน อย่างไรก็ตามการรุกคืบของจีนในการสร้างอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมากขึ้น ไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงอิทธิพลของมหาอำนาจใหม่นี้ได้ กรณีฮ่องกงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการทำให้จีนต้องสนใจประเทศไทยมากขึ้น ดังกรณีสถานทูตจีนออกมาตอบโต้นายธนาธร และพลเอกอภิรัชต์ออกมาสนับสนุนจีนโดยเปิดเผย 

สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้แค่ออกจดหมายตอบโต้เท่านั้น แต่ได้ทำปฏิบัติการข่าวสารเพื่อสนับสนุนรัฐบาลจีน อย่างกรณีที่เป็นข่าวใหญ่คือ มติชน ข่าวสด ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายใหญ่ของไทยได้เซ็นสัญญากับทางสำนักข่าวซินหัวของจีนเพื่อได้เผยแพร่ข่าว สำนักข่าวซินหัวซึ่งเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลจีนยังได้เปิดตัวสำนักข่าวซินหัวภาคภาษาไทยเป็นครั้งแรกด้วย ทั้งยังซื้อโฆษณาทางเฟซบุ๊กในการประชาสัมพันธ์ข่าว ทำให้มีคนไทยเข้าไปติดตามจำนวนมากอย่างรวดเร็ว

ไต้หวันแม้ว่าจะมีเว็บไซต์ (https://th.rti.org.tw/) มีภาคภาษาไทยมานานกว่า แต่จากเนื้อหาไม่ได้เน้นผู้อ่านชาวไทยมากกว่าแรงงานไทยที่ใช้ชีวิตในไต้หวัน ขณะที่เว็บไซต์ข่าวซินหัวมีเรื่องราวน่าสนใจของจีนในมุมเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม นับเป็นการรุกคืบที่รวดเร็วของจีนมาก เรียกว่า เป็นการกู้สถานการณ์เพื่อประกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อภาพลักษณ์จีน จากกรณีการประท้วงที่ฮ่องกงได้ทันท่วงที

ขณะที่ทางสาธารณรัฐประชาชนจีนมีเพจของรัฐ และของคนที่สนใจหลากหลายกว่า ทั้งในแง่มุมเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และอาหารการกิน แล้วที่ย้อนแย้งสำนักงานวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทเปประจำประเทศไทย ก็ได้ทำการจัดประกวดหนังสั้นผ่านเพจลุยจีน (https://www.facebook.com/shoot2china/) 3 ซึ่งเนื้อหาสาระของเพจนี้เน้นเผยแพร่เรื่องราวและการตลาดต่างๆจากจีนแผ่นดินใหญ่เป็นหลัก จึงเป็นที่น่าตั้งคำถามว่า ทางรัฐบาลไทเปและองค์กรTAEF ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโครงการนี้รับรู้หรือไม่ว่าการจัดวางสถานะของตนในโซเชี่ยลมีเดียต่อสาธารณชนไทยให้เข้าใจว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ฉะนั้นแล้ว ไต้หวันต้องทบทวนบทบาทสื่อของตนเองว่าต้องการให้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มองตนอย่างไร อีกทั้งจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ดีด้วย

จากบทสัมภาษณ์ ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในรายการเปิดปม ช่อง TPBS ที่กล่าวถึง การลงทุนของจีนในที่ต่างๆทั่วโลกนั้นได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลจีน ผลักดันให้ประชาชนของเขาเป็นผู้ประกอบการ และเป็นนักวิชาการทั่วโลก โดยทางการจีนมีนโยบายที่สนับสนุนอย่างจริงจัง โดยอาจารย์ได้ยกตัวอย่างว่า หากนักลงทุนจีนต้องการลงทุนในพม่า ก็สามารถกู้เงินจากสมาคมจีนในพม่าในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยของจีนสามารถเติบโตได้ แล้วการรุกคืบของจีนไม่ได้เกิดจากผู้คนอยากจะออกมาอย่างเดียว แต่ได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลระดับมณฑลด้วย และอาจารย์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า จีนได้สรุปบทเรียนในช่วงสงครามเย็นที่ถูกปิดล้อม โดยไทยซึ่งเคยอยู่ในค่ายโลกเสรีถูกใช้เป็นฐานในการต่อต้านจีน จึงทำให้จีนให้ความสำคัญอย่างมากกับประเทศกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีรากฐานความคิดในอดีตที่ว่า ประเทศเหล่านี้เป็นรัฐบรรณาการโดยมีจีนเป็นศูนย์กลาง และอาจารย์ยังตั้งข้อสังเกตว่า หลังการรัฐประหารในไทยปี 2557 รัฐบาลไทยเปิดทางให้จีนมีอิทธิพลมากขึ้น เพื่อที่จะคานอำนาจกับชาติตะวันตก 4เมื่อย้อนมาดูนโยบายของไต้หวันพบว่า ไม่มีแผนหรือการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเลย จึงไม่แปลกใจว่า พลังทางของไต้หวันเศรษฐกิจไทยถดถอยลง ไม่อาจยืนระยะได้ เมื่อเทียบกับทุนญี่ปุ่น ทุนเกาหลีใต้ และถูกเบียดขับโดยผู้มาใหม่อย่างทุนจีน 

 จากที่กล่าวในส่วนแรกที่คนไต้หวันมุ่งที่จะศึกษาในชาติตะวันตก และญี่ปุ่น แต่สำหรับคนจีนนั้น หากต้องการศึกษาประเทศใดอย่างจริงจังมักจะส่งคนมาเรียนตั้งแต่ในระดับปริญญาตรีเป็นจำนวนมาก การส่งคนมาศึกษานั้นเป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่า และเป็นมากกว่าการพบปะตามองค์กรต่างๆอย่างที่ไต้หวันนั้นทำมากขึ้นภายใต้ New Southbound Policy อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไต้หวันทำนั้นผิวเผิน ไม่มีความร่วมมืออย่างจริงจัง เป็นแค่เพียงการพบปะเพียงรู้จักผ่านๆเท่านั้น ซ้ำร้ายไปกว่านั้น รัฐบาลจีนมียุทธศาสตร์อย่างจริงจังในการตั้งสถาบันขงจื่อ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจอันดี และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่จีน ซึ่งเป็นองค์กรที่คล้ายกับ British Councilของสหราชอาณาจักร Goethe-Institutของเยอรมัน และ Alliance Française ของฝรั่งเศลเป็นต้น 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงความล้มเหลวในระดับการพัฒนาการศึกษาของไต้หวันในไทยก็คือ การที่นักเรียนจีนถูกส่งมาเรียนที่ไทยจำนวนมาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ One Belt One Road ในการเป็นตัวประสานงานธุรกิจของบริษัทในจีน ขณะที่ไต้หวันเองแม้มีนโยบายจะส่งเสริมคนไต้หวันมาเรียนที่ไทย แต่ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง เช่น  สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียที่มีศิษย์เก่าเป็นคนไต้หวัน อย่าง George Chen อดีตรัฐมนตรีคมนาคมและการสื่อสารของไต้หวัน กับ Mao Chi-kuo อดีตนายกรัฐมนตรีของไต้หวัน รัฐบาลจีนสนับสนุนคนจีนให้มาเรียนที่นี่ 10 ทุน แต่ไต้หวันที่มีศิษย์เก่าเคยเป็นถึงระดับรัฐมนตรี รัฐบาลไต้หวันกลับไม่ได้มีการส่งเสริมทุนการศึกษาให้มาเรียนเลย และขาดวิสัยทัศน์ในการสร้างงานในประเทศไทยกับคนที่มาศึกษาต่อ ทำให้นักศึกษาเองก็ไม่เห็นว่ามีความสนใจที่จะมาเรียนที่นี่

นอกจากนี้โครงการ Taiwan Experience Education Programs ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการให้นักศึกษาและนักวิจัยจากประเทศNew Southbound Policyมาศึกษาแลกเปลี่ยน หรือฝึกงานในมหาวิทยาลัยต่างๆในไต้หวัน เนื่องจากไม่มียุทธศาสตร์ จึงมีการเสนอโครงการแบบหว่านแห โดยโครงการส่วนใหญ่นั้นเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มากกว่าสังคมศาสตร์ การขาดการศึกษาความเข้าใจที่ดีก่อนจะมีโครงการ จึงทำให้โครงการนี้มีทีท่าว่าจะล้มเหลว และจะหยุดชะงัก เพราะไม่มีความต่อเนื่องของแผนการนี้ในปีหน้า เป็นน่าเสียดายที่จะต้องสูญทรัพยากรโดยไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร

จุดแข็งที่ไต้หวันไม่เห็น

แม้ว่าจะมีข้อบกพร่องทางนโยบายอยู่มาก แต่รัฐบาลไต้หวันในรัฐบาล DPP ก็ดำเนินการอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในการผลักดันให้ประเด็นสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม เสรีประชาธิปไตย มีความโดดเด่นขึ้นมา อย่างที่สนับสนุนเวที Yushan Forum ซึ่งนับเป็นสิ่งเดียวที่ประเทศจีนไม่สามารถสร้างเป็นจุดขายได้ โดยเฉพาะในยุคสีจิ้นผิงที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่สุดต่อชาวคริสต์ มุสลิม และคนที่คิดต่าง ฉะนั้น สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยก็เป็นสิ่งที่สามารถสื่อสารกับคนไทยรุ่นใหม่ที่ต้องการหาตัวอย่างในเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ในที่นี้ ไต้หวันสามารถทำได้ดีในการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการเป็นระบอบประชาธิปไตยได้

อย่างไรก็ตาม ไต้หวันใช้ยุทธศาสตร์นี้อย่างจริงจังในการพบปะพูดคุยมากกว่าการลงมือปฏิบัติจริง แม้จะมี Taiwan Foundation for Democracy Foundationที่มีมีพันธกิจที่มุ่งหวังที่จะส่งเสริมประชาธิปไตย กลับไม่มีมีการส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างเป็นชิ้นเป็นอันทั้งในระดับโลกหรือประเทศใน NSP อีกทั้งรัฐบาลไต้หวันละเลยที่จะเกี่ยวข้องกับนักสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยไทย โดยมีปฏิสัมพันธ์แค่ผิวเผิน เป็นการดูงานและการอบรมแล้วจบกันไป อีกทั้งรัฐบาลไต้หวันเองยังมีแนวโน้มที่จะเอนเอียงไปหารัฐบาลเผด็จการภายใต้รัฐบาลประยุทธ แม้พรรคการเมืองหัวก้าวหน้าอย่าง พรรคอนาคตใหม่ ถูกกดดันจากกระแสของรัฐบาลจีน โดยที่ไต้หวันจะยังคงอยู่ในสถานะที่เสี่ยงในความไม่แน่นอน ไม่มีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลไทย และฐานการสนับสนุนไต้หวันในไทยก็จะยังเป็นไปอย่างจำกัด โดยไต้หวันเองสนใจเพียงมิติทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งเมื่อเทียบขนาดกับคู่พิพาทกับจีนแล้ว ไต้หวันไม่ได้มีความสำคัญกับไทยมากนัก    จากการสอบถาม Brian Hioe ผู้ก่อตั้ง New Bloom และเคยเป็นFellowของTaiwan Foundation for Democracy ได้กล่าวว่า ถึงแม้ว่าไต้หวันจะทุ่มทรัพยากรมหาศาลภายใต้New Southbound Policy (NSP) และมีการพบปะพูดคุยสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรภาคประชาสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งความพยายามของรัฐบาลของTsai Ing-wenก็ยังควรทำอยู่ เพื่อพัฒนาปรับปรุงต่อไป สิ่งที่ประจักษ์ชัดคือ รัฐบาลไต้หวันไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับประชาชนไต้หวัน และกิจกรรมต่างๆที่จัดโดยNGOs และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับNSPก็มักจะพบข้อจำกัดยุ่งยากที่กินเวลาโดยไม่จำเป็น 5 เมื่อพิจารณาทั้งหมดแล้วหากไต้หวันไม่สามารถมีความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสู่ประชาชน(People-to-people diplomacy)ที่เข้มแข็ง ก็ย่อมทำให้ไต้หวันตกในที่นั่งลำบาก อีกทั้งไม่สามารถสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมที่สร้างผลงานอย่างจริงได้ ไม่สามารถสร้างค่านิยมประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนที่ไต้หวันยึดถือ แต่กับทรยศต่อหลักการของตนเพื่อหวังผลประโยชน์เฉพาะหน้า เมื่อเป็นเช่นนี้ ไต้หวันจึงไม่มีควา่มชอบธรรมที่จะป่าวประกาศกับโลกว่าตนยึดมั่นในประชาธิปไตย และไม่มีความน่าเห็นใจที่จะบอกกับโลกว่าจีนที่เป็นประเทศเผด็จการรังแกไต้หวัน เพราะไต้หวันก็รังแกไทยทางอ้อมเช่นเดียวกัน 

ความกระเหี้ยนกระหือรือของไต้หวันที่จะสนับสนุนรัฐบาลอำนาจนิยมของไทย

เป็นสิ่งที่ย้อนแย้งมากของไต้หวันภายใต้รัฐบาลDPP ที่ป่าวประดาศกับทั่วโลกว่าไต้หวันยึดมั่นในค่านิยมประชาธิปไตย และเคารพสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนี้มีความพยายามที่จะแสวงหาประโยชน์จากรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของไทยในการลงทุน จากงานสัมมนาที่นายTung Chen-yuan ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ที่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ (National Chengchi University) ซึ่งเขาได้เคยเป็นศาสตราจารย์ของสถาบันบัณฑิตวิทยาลัยแห่งพัฒนศาสตร์ (Graduate Institute of Development Studies) มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ  (National Chengchi University) มีความกระตือรือร้นที่จะร่วมมือกับรัฐบาลอำนาจนิยมของไทยที่สืบทอดจากการรัฐประหารในปี 2014 ในนโยบายThailand 4.0 และโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าโครงการนี้ทั้งรัฐบาลจีนและบรรษัทขนาดใหญ่ของจีนได้ประโยชน์ และไม่เป็นที่ชัดเจนว่าประชาชนไต้หวันและนักลงทุนไต้หวันเองได้ประโยชน์จากโครงการเหล่านี้ โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนี้เป็นที่รับรู้กันว่าได้กันการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องที่ออกไป ซึ่้งขัดกับค่านิยมประชาธิปไตย และการเคารพสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลไต้หวันยึดมั่น ที่ย้อนแย้งไปกว่านั้นก็คือ ความกระเหี้ยนกระหือของทางไต้หวันกลับเป็นฐานให้ทางจีนได้ประโยชน์ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไต้หวันสนับสนุนรัฐบาลอำนาจนิยม เพราะครั้งหนึ่งเคยสนับสนุนรัฐบาลอำนาจนิยมของไลบีเรียที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน 6  ฉะนั้นแล้ว ถ้าไต้หวันมีความจริงใจต่อความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคที่ตนเองมักเปล่าประกาศว่าตนมีอยู่ และกำลังถูกคุกคามโดยประเทศเผด็จการอย่างจีน ไต้หวันก็สมควรที่จะพิจารณาศีลธรรมและค่านิยมที่ตนเองยึดถือว่ายังคงมีอยู่หรือเปล่า 

บทสรุป

ไทยเป็นสมรภูมิของสหรัฐอเมริกาและจีนมาพอสมควรแล้ว โดยในปัจจุบันถูกเร่งขึ้นด้วยความขัดแย้งของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม จีนไม่ได้มีความเชื่องช้า ล้าหลังอย่างในอดีตหลังการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ อีกทั้งเศรษฐกิจจีนเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก และมีพันธมิตรที่ต่อต้านประชาธิปไตยเป็นพวกด้วย ขณะที่สหรัฐอเมริกาภายใต้โดนัล ทรัมป์ ไม่ได้ออกเสียงสนับสนุนประชาธิปไตยไทยเลย  แม้ว่าคนไทยต้องการจะประชาธิปไตยและไม่พอใจรัฐบาลประยุทธ์จะมากขึ้น แต่ด้วยท่าทีของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันเองที่ไม่ได้สนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตย จีนจะมีบทบาทนำต่อชนชั้นนำในประเทศไทย และจะรักษาให้มั่นคงที่สุดเพื่อให้ไทยยังปกครองโดยไม่มีเสรีประชาธิปไตย (เป็นการรับประกันว่า จีนจะไม่ถูกผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วย) ทำให้ขบวนการนักเคลื่อนไหวในไทยเองก็จะยังอยู่ภายใต้แรงกดดันที่มากยิ่งขึ้นด้วย  ในส่วนของไต้หวัน หากเลือกผิดข้างคำนึงประโยชน์ระยะสั้น ไม่มีวิสัยทัศน์และแผนการที่ชัดเจนต่อประเทศไทย พร้อมกับชูจุดยืนด้านระบอบเสรีประชาธิปไตยของตน ไต้หวันย่อมจะสูญเสียภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างดีในประเทศไทยไป อีกทั้งยังกระทบกับความมั่นคงและความยั่งยืนของไต้หวันเอง และหากไต้หวันไม่มียุทธศาสตร์ที่ดี ทำได้แค่เพียงพบปะพูดคุย ไม่ลงทุนในสิ่งที่ควรลงทุน จึงทำให้ไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้  ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ไต้หวันจะมีพื้นที่ในภูมิภาคนี้ลดลง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประชาชนไต้หวัน ดังนั้นแล้ว ไต้หวันมีสองทางเลือก คือถ้าหากป่าวประกาศใหญ่โตว่าจะมีนโยบายมุ่งลงใต้ ก็ควรจะมีการวางแผนให้ดี ต้องมีการสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆอย่างแข็งขัน ถึงแม้ว่าจะประสบปัญหาในการติดต่อกับรัฐบาลเผด็จการบางประเทศในภูมิภาคนี้ที่อิงจีน ก็ต้องหาช่องทางอื่นเท่าที่เป็นไปได้ และขายจุดแข็งของตัวเองที่คิดว่าประเทศตน ถ้าหากไต้หวันรู้ว่าตนทำไม่ได้อย่างที่ประกาศไว้เป็นมั่นเป็นเหมาะ หรือว่าไต้หวันไม่มีศักยภาพในการแข่งขัน ก็ควรจะถ่อมตัวในสถานะของตน และดำเนินการสานสัมพันธ์อย่างละมุนละม่อมและค่อยเป็นต่อไป เพื่อที่จะไม่ให้จีนทีเป็นมหาอำนาจรุกไล่ตนจนไม่มีที่ยืนในเวทีโลก

สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ
มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ
Sukrid Peansuwan
National Chengchi University
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Netiwit Chotiphatphaisal
Chulalongkorn University

* Opinions expressed in this article are the author’s own and do not necessarily reflect FORSEA’s editorial stance.


  1.  Leifer, M. (1994, Feb 11). Taiwan:A studied exercise in vacation diplomacy: 2 edition]. International Herald Tribune Retrieved from https://search.proquest.com/docview/319737910?accountid=10067
  2. https://nspp.mofa.gov.tw/nsppe/list_tt.php?unit=376&unitname=Policy-Framework
  3. https://event.cts.com.tw/2019TTweifilm/index.html
    https://www.facebook.com/869836633121664/posts/2138738966231418/
    เป็นการจงใจหรือไม่ที่เพจนี้เขียนผิดว่าเป็น “สำนักงานวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทยประจำประเทศไทย”
  4.  https://www.youtube.com/watch?v=0MtT_ohQlG8
    ตั้งแต่ นาทีที่ 48.08
  5. Brian Hioe กล่าวว่า “ Despite devoting a great deal of resources toward the New Southbound Policy (NSP) and much talk of building ties with civil society organizations in Southeast Asian countries, the Tsai administration’s efforts in this regard could still do with a great deal of improvement. For example, the Tsai administration has not been successful in creating channels for visitors from Southeast Asia to dialogue directly with the Taiwanese public writ large, and activities organized by NGOs and other groups working on NSP-related efforts are sometimes needlessly bureaucratic.”
  6. สิทธิพล เครือรัฐติกาล และ วรศักดิ์ มหัทธโนบล. (2558). ไต้หวันในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Posted by สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ & เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล