การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ หมายถึง การพร้อมใจกันเลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ให้ชนะเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรให้ได้ ในที่นี้ คือ 251 คน จากทั้งหมด 500 คน
ความที่ “การเลือกตั้ง 62” ใช้ “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” เพราะไม่ต้องการให้พรรคใดพรรคหนึ่ง ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งพรรคเดียวเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา ด้วยตัวระบบที่ออกแบบมา เช่นนี้ ทำให้การไปถึง 251+ เป็นเรื่องยากและท้าทายมาก
แม้ รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า การตั้งรัฐบาลจะต้องรวมเสียงในรัฐสภาให้ได้ 376 เสียง แต่การเป็นฝ่ายค้านเสียงข้างมาก ก็ยังถือว่าเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบรัฐบาล จนมีการวิเคราะห์ว่า อาจทำให้รัฐบาลเสียงข้างน้อยมิอาจทำหน้าที่ได้ และยังสามารถป้องกันการตั้ง “นายกฯ คนนอก” ตามมาตรา 272 รัฐธรรมนูญ 2560 ได้อีก
ข้อเขียนนี้ จะพยายามปรับให้เข้ากับสถานการณ์ล่าสุดของการเลือกตั้ง
ทำความเข้าใจกับการคิดคะแนนระบบเลือกตั้งใหม่แบบเร่งด่วน
เมื่อทำการนับคะแนนจากทุกเขตเลือกตั้งเสร็จ คะแนนทุกคะแนน ของทุกพรรค ทุกเขต ทั่วประเทศ ที่เป็นบัตรดี และ ไม่ใช่การ Vote No จะถูกนำรวมกันเป็น คะแนนรวมของประเทศ แล้วจะ หาร ด้วย 500 (จำนวน ส.ส. ทั้งหมด) เพื่อหา คะแนนกลาง เช่น ถ้าบัตรดี 40,000,000 คะแนน หารด้วย 500 ก็จะได้ “คะแนนกลาง” เท่ากับ 80,000 คะแนน ถ้าคะแนนรวมของประเทศน้อยลง คะแนนกลาง ก็จะน้อยลงไปอีก หรืออาจจะมากกว่านี้ ถ้ามีผู้มาใช้สิทธิเยอะขึ้นหรือบัตรดีเยอะขึ้น
จากนั้น จึงเอา คะแนนรวมของพรรค ที่แต่ละพรรคได้มา หาร ด้วย คะแนนกลาง เพื่อหาจำนวน ส.ส. พึงมี ก่อน ว่าแต่ละพรรคจะได้เท่าไหร่ ถ้าได้น้อยกว่าจำนวน “ส.ส. เขต” ที่ชนะเลือกตั้งมา ก็ให้บวกเข้าไปให้เท่า (ที่พึงจะมีจะได้) แต่ถ้าจำนวน “ส.ส. เขต” มากกว่า “ส.ส. พึงมี” ก็จะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ หรือ “ส.ส. ปตล.” เพิ่มเลย อย่างไรก็ตาม ถ้าชนะ “ส.ส. เขต” ไปแล้วและมีจำนวนมากกว่า “ส.ส. พึงมี” ก็จะชนะไปเลย ไม่ถูกหักลด
การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ฉบับสั้น
SV ย่อมาจากอะไร?
ย่อมาจาก Strategic Voting แปลว่า การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์
แล้ว SV คืออะไรกันแน่?
SV คือ การตั้งยุทธศาสตร์ว่าเราจะ เลือก พรรคใดพรรคหนึ่งให้ชนะการเลือกตั้ง เกินกึ่งหนึ่ง ไปเลยพรรคเดียว ในที่นี้หมายถึง “สส เขต” เกิน 251 เสียง หรือ #SV251
ทำไมการเลือกตั้งปี 62 ต้อง SV?
เพราะ รธน 60 กำหนดให้นายกฯ ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากรัฐสภา 376 เสียง ซึ่ง “ส.ว.” แต่งตั้ง 250 คน มีสิทธิโหวตด้วย ดังนั้น พรรคการเมืองที่มีท่าทีสนับสนุนรัฐบาลปัจจุบัน จึงต้องการ “ส.ส.” อีกเพียง 126 คน (จาก 500 คน) เท่านั้น ก็สามาถจัดตั้งรัฐบาลได้ (กรณีผู้ที่จะเป็นนายกฯ อยู่ในบัญชีรายชื่อที่แจ้งแก่ กกต.)
ถ้าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยชนะเลือกตั้ง 251 คนขึ้นไป ก็จะมีพลังในการตรวจสอบรัฐบาลใหม่ ทั้งการลงมติไม่ไว้ วางใจฯ การลงมติเห็นชอบกับงบประมาณแผ่นดินฯ เรียกว่าเป็น “ฝ่ายค้านเสียงข้างมาก“ ยิ่งถ้าเกิน 251 มากไปเท่าไหร่ยิ่งเข้มแข็ง หรืออาจเรียกว่า ยังได้สู้ต่อ
SV ไปแล้วเป็นได้แค่ฝ่ายค้าน แล้วจะ SV ไปเพื่ออะไร?
เพื่อได้มีสิทธิต่อสู้ในวิถีทางประชาธิปไตยดีกว่าจะเป็นฝ่ายค้านเสียงข้างน้อยแล้วทำอะไรไม่ได้เลย ต้องอยู่กับรัฐบาลใหม่อีก 4 ปีเป็นอย่างต่ำ มีเพียง #SV251 เท่านั้นจะช่วยให้พรรคฝ่ายค้าน มีจำนวนเสียงเพียงพอที่จะตรวจสอบกับรัฐบาลใหม่ในสภาฯ
SV คือการขายฝันหรือไม่?
ใช่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองหนึ่งชนะแบบ “แลนด์สไลด์” สะท้อนความปรารถนาของประชาชน ส่วนใหญ่นั้น เป็นการเลือกตั้งในฝัน ประชาชนเล็งเห็นความสำคัญและอยากให้มีการเปลี่ยนแปลง
SV มีอะไรดีอีกบ้าง?
มีดีตรงที่สามารถสกัด “นายกฯ คนนอก” ตาม ม.272 ได้ … รัฐสภา ต้องลงมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คน จาก 750 คน ให้มีนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อท่ีพรรคการเมืองแจ้งไว้ได้ ถ้าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยมี 251 คน ฝ่ายที่เสนอนายกฯ คนนอก ก็จะมีเพียง 750-251 = 499 คน เท่านั้น
SV หรือโหวตตามยุทธศาสต์เป็นคำยากต้องแปลเป็นภาษาชาวบ้านหรือไม่?
ต้องแปล แปลให้เป็น “สโลแกน” เป็นประโยคที่เข้าใจง่าย ติดหู และอธิบายจุดประสงค์ของ SV ได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียกับคะแนนเสียงจะต้องทำเอง
ความซับซ้อนของระบบเลือกตั้งทำให้ไม่มีพรรคใดพรรคเดียวไปถึง 251+ แบบทางตรง
- “บัตรเลือกตั้งใบเดียว” ที่ใช้เลือกทั้ง ส.ส. เขต และ นำคะแนนมาคิด ส.ส. บัญชีรายชื่อ ในภายหลังนั้น จะทำให้พรรคที่ชนะ ส.ส. เขต เป็นจำนวนมาก ไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เลย เพราะจำนวน ส.ส. เขตจะมากกว่าจำนวน ส.ส. พึงมี ไปแล้ว ยกตัวอย่าง พรรค ก ส่งเลือกตั้ง 250 เขต ชนะ 200 เขต ด้วยคะแนนเขตละ 50,000 คะแนน ได้คะแนนรวม 10,000,000 คะแนน ถ้ารวมคะแนนจากเขตที่แพ้อีก 50 เขต สมมติ 2,000,000 คะแนน เป็น 12,000,000 คะแนน ซึ่งถือว่าเยอะมากแล้ว เมื่อนำมาหาร “คะแนนกลาง” ที่ 80,000 คะแนน ก็ยังได้ “ส.ส. พึงมี” เพียงแค่ 150 คนเท่านั้น และในเมื่อชนะเขต ไปแล้วถึง 200 คน ก็จะไม่ได้เพิ่มเลย (ข้อสังเกตคือ คะแนนชนะในแต่ละเขต จะต่ำกว่า คะแนนกลางเสมอ คุณอยากได้ ปตล. คุณก็ต้องได้เกินคะแนนกลาง แต่จะทำได้อย่างไรทุกเขต)
- “ภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมืองไทย” ที่แยกและกำหนดลักษณะเฉพาะให้ ภาคใต้ กล่าวคือ แทบจะเรียกได้ว่าเกือบ 50 เขตในภาคใต้ ไม่มีการแข่งขันการอย่างแท้จริง หมายถึง พรรค ก ชนะคู่แข่งอันดับ 2 แบบทิ้งห่างเกิน 50,000 คะแนน และกวาดแทบยกภาค (ปี 54 ได้ 50 จาก 53 ที่นั่ง) สร้างวัฒนธรรม เลือกตั้งที่เข้มแข็งหลายสมัย ส่วนอีก 300 เขตที่เหลือของประเทศนั้น พรรค ข ไม่มีทางจะชนะ “ส.ส. เขต” ได้ถึง 251+ เมื่อประเมินจากคะแนนเลือกตั้ง 2 ครั้งหลังสุด และวิเคราะห์ความเป็นจริงทางการเมืองของ ภาคอื่นๆ ที่มีพรรคขนาดกลางและเล็กหลายพรรค เป็นเจ้าของพื้นที่มาอย่างยาวนาน ประกอบกับการย้ายพรรคของ “ส.ส. เกรดเอ” ไปสังกัดพรรคใหญ่ที่ตั้งใหม่ ยิ่งทำให้การไปถึง 251+ ด้วยการชนะ ส.ส. เขต โดยตรงไปเลยนั้น เรียกว่า เป็นไปไม่ได้
- “คณิตศาสตร์กับความเป็นจริงทางการเมือง” การได้คะแนนเลือกตั้งจำนวนมาก หรือสมมติจากสถิติเก่า แล้วนำมา หาร จำนวนเขตที่ส่งผู้สมัคร ก็อาจได้เกินกึ่งหนึ่งคะแนนกลาง ซึ่งตามหลักก็จะเป็นผู้ชนะ แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า จะชนะเขตทุกเขตตามที่คะแนนเฉลี่ยให้มา ยิ่งเกิดการแบ่งเขตใหม่ คู่แข่งตัดคะแนนมากขึ้น ยิ่งเกิดความเสี่ยง กระทั่ง การจำลองคะแนนนิยมจากการเลือกตั้งปี 54 (บัตรใบที่ 2 ที่ใช้เลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อ) ไม่ว่าจะเป็น 17,000,000 หรือ 18,000,000 คะแนน มาหารด้วย “คะแนนกลาง” ที่ 80,000 ก็ยังได้ ส.ส. ไม่ถึง 250 คน ดังนั้นจึงเกิด “แนวคิดใหม่” เข้ามาอีก ซึ่งเรียกว่า แตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย และไม่จำเป็นต้องได้คะแนนเสียงระดับ 17,000,000-18,000,000 ก็ยังสามารถได้เสียงเกิน 251+ เพราะ “ส.ส” 2 แบบใช้วิธีการคิดต่างกัน
การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของฝ่ายประชาธิปไตยในความหมายใหม่
เลือกพรรคใหญ่พรรคเดียวไปเลยในเขตที่พรรคนั้นเข้มแข็ง เพราะการชนะ “ส.ส. เขต” ไปเลยนั้น ดีกว่า ง่ายกว่า คุ้มกว่า หรือ ถูกกว่า การไปรวมคะแนนที่ 80,000 คะแนน เพื่อให้ได้ “ส.ส. บัญชีรายชื่อ” 1 คน
- ลองสมมติว่า สามารถชนะ “ส.ส. เขต” ด้วยคะแนน 50,000 คะแนน ถ้าต้องการชนะ 250 เขต ก็ใช้คะแนนเพียง 12,500,000 คะแนนเท่านั้น หรือต่ำกว่า 50,000 ก็ยังชนะ แต่การได้คะแนนรวมสูง ในทางตรรกะ ก็ย่อมมีโอกาสชนะมากเขตมากขึ้น ต่อให้ไม่ถึง 250 เขตก็ตาม … หลักการนั้นเรียบง่าย กล่าวคือ ชนะไปเลย ชนะไว้ก่อน ชนะเท่าไหร่ก็ได้ เท่าที่จะชนะได้ แต่ถ้า “ชนะเยอะๆ” คะแนนห่างจากที่ 2 มากๆ จะยิ่งดี เพราะจะเป็นการไปตัดคะแนนรวมของพรรคคู่แข่งรายสำคัญที่แพ้ด้วย
- เลือกพรรคเล็กในเขตที่พรรคใหญ่ไม่ส่งผู้สมัคร ตามแนวคิด การแตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย
แตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย หมายถึง การให้ พรรคใหญ่ ที่เก่งเรื่อง “เขต” ส่ง ส.ส. เขตให้มากที่สุด ในเขตอิทธิพลของพรรค เท่าที่จะสามารถชนะได้หรือสูสีกับคู่แข่ง อย่างการ “ลิมิต” ไว้ที่ 250 เขต ก็ตรงกับการคำนวณข้างต้น ที่ว่า ถ้าชนะ ส.ส. เขต เป็นจำนวนมากถึง 180 – 200 คน ที่ระดับคะแนน เฉลี่ย 50,000 คะแนนแล้ว คะแนนในเขตที่แพ้มา ไม่ว่าจะ 50 หรือ 70 เขต ก็จะไม่มีประโยชน์เลย ไม่สามารถนำมาคิดเพิ่มเป็น “ส.ส. บัญชีรายชื่อ” ได้ ตรงกับคำว่า คะแนนตกน้ำ นั่นเอง
ขณะเดียวกัน พรรคเล็ก ก็จะทำหน้าที่ เก็บคะแนนผู้แพ้ จากเขตต่างๆ ที่พรรคส่ง ส่งเยอะก็มีโอกาสเก็บคะแนนได้เยอะ ยิ่งเมื่อมี กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ ก็ยิ่งเป็นโอกาสที่ พรรคเล็กๆ จะได้ชิงชัย ในคะแนนจากเขตเลือกตั้งเหล่านั้นได้มากขึ้น
ความที่ พรรคเล็ก เหล่านี้ ยากที่จะชนะ ส.ส. เขต หรือ ชนะเพียงไม่กี่เขตเท่านั้น จึงทำให้จำนวน “ส.ส. พึงมี” จะยังมากกว่า “ส.ส.เขต” ทำให้ยังได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพิ่มขึ้นนั่นเอง เช่น ถ้าคะแนนรวมของ พรรค ก ได้ 1,000,000 คะแนน จากที่ส่ง 330 เขต (ตกเฉลี่ยต้องหาคะแนนให้ได้เขตละ 3,030 คะแนน) ก็ได้จะ ส.ส. พึงมี = 1,000,000 / 80,000 = 12.5 คน
ตรงนี้ถึงเรียกว่า ตรงกับคำว่า คะแนนไม่ตกน้ำ
ทำนองเดียวกัน ถ้า พรรค ข และ พรรค ค เกิดเก็บคะแนนได้เท่าๆ กัน หรือลดหลั่นกันลงมา เพราะผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เข้าใจ ระบบเลือกตั้งและยุทธศาสตร์การได้มาซึ่งจำนวน “ส.ส.” ที่ต้องการ ก็จะทำให้พรรคเล็กๆ ที่ตั้งขึ้นมาใหม่เหล่านี้ สามารถแย่งชิง ส.ส. บัญชีรายชื่อ กับพรรคการเมืองขนาดใหญ่กว่าได้ ส่วนจะเลือกพรรคใดนั้น ก็สุดแล้วแต่ความชื่นชอบในแนวคิดของพรรค, นโยบายพัฒนาประเทศของพรรค และผู้นำพรรค
จะเห็นว่า พรรคเล็ก ทุกพรรคมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และหากยอมร่วมฝั่งเดียวกับ พรรคใหญ่ จับมือกันเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ก็อาจสามารถรวมเสียงกันได้ถึง SV251+ นั่นเอง และเราก็หวังว่า จะมากกว่าตัวเลขนี้ไปอีกไกล
FORSEA
* Opinions expressed in this article are the author’s own and do not necessarily reflect FORSEA’s editorial stance.